ภารกิจ>>งานคุมประพฤติ>>การแสวงหาข้อเท็จจริง>>การสืบเสาะและพินิจผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.๕๖



การแสวงหาข้อเท็จจริง

การสืบเสาะและพินิจผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๖

ความหมาย

การสืบเสาะและพินิจผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๖ หมายถึง การแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติภูมิหลังทางสังคมของจำเลย สภาพความผิดและเหตุอื่นอันควรปรานีก่อนศาลมีคำพิพากษา โดยมีพนักงานคุมประพฤติเป็นผู้ดำเนินการตามคำสั่งศาลแล้วนำมาวิเคราะห์ ประเมินและทำรายงานพร้อมทั้งความเห็นเสนอต่อศาล เพื่อใช้ประกอบดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาคดีว่าจะใช้มาตรการใดจึงจะเหมาะสมกับจำเลยเป็นรายบุคคล

วัตถุประสงค์

                    เมื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ.๒๕๕๙ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๖ วรรคแรกสามารถสรุปวัตถุประสงค์การสืบเสาะและพินิจเป็น ๓ ประการ ดังนี้

                    ๒.๑ เพื่อเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นเกี่ยวกับประวัติและภูมิหลังทางสังคมของจำเลยว่าจะใช้มาตรการใดจึงจะเหมาะสมกับจำเลยเป็นรายบุคคล

                    ๒.๒ เพื่อกลั่นกรองผู้กระทำความผิดที่เหมาะสมเข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของสังคมและแนวโน้มในการแก้ไขปรับปรุงตนเองในชุมชนของผู้กระทำความผิดเป็นหลัก

                    ๒.๓ เพื่อประโยชน์ในการวางแผนแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในชุมชน

หลักการในการปฏิบัติงานสืบเสาะและพินิจ

                    หลักการปฏิบัติงานสืบเสาะและพินิจนั้น อยู่บนพื้นฐานของมาตรฐานแห่งชาติว่าด้วยการปฏิบัติงานของกรมคุมประพฤติ และมาตรฐานองค์การสหประชาชาติว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งพนักงานคุมประพฤติต้องยึดถือเป็นหลักในการปฏิบัติงาน ดังนี้

                    ๑. การปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยเหตุที่ว่าการสืบเสาะและพินิจเป็นกระบวนการในการแสวงหาและรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยเพื่อวิเคราะห์และประเมินทำเป็นรายงานพร้อมความเห็นและข้อเสนอแนะเสนอต่อศาลเพื่อใช้ประกอบดุลพินิจในการพิพากษาให้เหมาะสมกับจำเลยแต่ละบุคคล ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานจึงต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและสาธารณชนยอมรับและเชื่อถือ

                    ๒.การเก็บรักษาความลับ   พนักงานคุมประพฤติต้องปกปิดข้อเท็จจริงที่ได้จากการสืบเสาะและพินิจไว้เป็นความลับ ไม่นำไปเปิดเผยนอกอำนาจหน้าที่ของตนเว้นแต่ในกรณีของการปรึกษาหารือในการปฏิบัติงาน และการศึกษาวิจัยในทางวิชาการเท่านั้น

                    ๓. การวางตัวเป็นกลาง พนักงานคุมประพฤติต้องปฏิบัติหน้าที่ค้นหาและตรวจสอบข้อเท็จจริงของจำเลยและจัดทำรายงานพร้อมทั้งความเห็นและข้อเสนอแนะต่อศาลด้วยความเป็นกลาง ไม่ใช้อารมณ์ความรู้สึกของตนเป็นเกณฑ์ตัดสิน ปฏิบัติงานโดยปราศจากความลำเอียง ที่เกิดจากความชอบหรือไม่ชอบเป็นการส่วนตัวและไม่ปฏิบัติงานในลักษณะเลือกที่รักมักที่ชังทั้งต่อตัวจำเลย ผู้เสียหายและบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดี โดยยึดหลักเกณฑ์และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยแต่ละรายเป็นสำคัญ

                    ๔. การยอมรับในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์  แม้ว่าจำเลยจะเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายและอยู่ระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล แต่จำเลยก็ยังคงมีสถานภาพเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นปัจเจกบุคคลผู้หนึ่งที่มีศักดิ์ศรีและมีสิทธิเสรีภาพภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย ดังนั้นการดำเนินการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ก็จะต้องเป็นไปโดยยอมรับในความเป็นมนุษย์ด้วยการให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรีของจำเลยนั้น การสอบปากคำและการปฏิบัติใดๆ กับจำเลยจึงต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวังและคำนึงถึงหลักการนี้อย่างเคร่งครัด ซึ่งในส่วนผู้เสียหาย พยาน และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องก็จำเป็นต้องได้รับการให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ด้วยเช่นกัน

                    ๕. การยอมรับในศักยภาพที่จะกลับตนเป็นพลเมืองดีของจำเลย ในการสืบเสาะและพินิจเพื่อกลั่นกรองผู้กระทำความผิดที่เหมาะสมเข้าสู่กระบวนการควบคุมและสอดส่องนั้น พนักงานคุมประพฤติจะต้องให้การยอมรับในศักยภาพของจำเลยในการปรับปรุงแก้ไขตนเองเพื่อกลับตนเป็นพลเมืองดี โดยคำนึงถึงแนวโน้มในการแก้ไขปรับปรุงตนเองในชุมชนของจำเลยเป็นสำคัญ

                   ๖. การนำเสนอข้อเท็จจริงตามความเป็นจริงอย่างมีเหตุผลและมีหลักฐาน  การนำเสนอข้อเท็จจริงจากการสืบเสาะและพินิจในรายงานการสืบเสาะและพินิจ จำเป็นต้องเป็นไปอย่างตรงไปตรงมาตามความเป็นจริงอย่างมีเหตุผลและมีหลักฐานยืนยันได้ มิใช่เป็นการคาดเดาหรือกะเกณฑ์เอาตามความรู้สึกของพนักงานคุมประพฤติเองซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อจำเลย ต่อพนักงานคุมประพฤติ และต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยส่วนรวม

                    ๗. การปฏิบัติงานอย่างมีระบบแบบแผนการปฏิบัติงานสืบเสาะและพินิจถือเป็นการปฏิบัติงานในวิชาชีพ ที่มีระบบระเบียบและขั้นตอนวิธีการเฉพาะ อีกทั้งมีระยะเวลาจำกัดในการปฏิบัติงาน พนักงานคุมประพฤติผู้ปฏิบัติงานสืบเสาะและพินิจจึงต้องคำนึงถึงหลักการในการปฏิบัติงานตามขั้นตอนและวิธีการของการสืบเสาะและพินิจอย่างเคร่งครัด ภายใต้การวางแผนในการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุผลสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

                    ๘. การคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ในขั้นตอนการสืบเสาะและพินิจ พนักงานคุมประพฤติอาจจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริง หรือดำเนินการอื่นใดกับพยาน/ผู้เสียหายที่เป็นเด็กหรือเยาวชน การปฏิบัติงานจึงต้องให้ความเคารพสิทธิและความเป็นส่วนตัวของเด็กหรือเยาวชน โดยจะต้องป้องกันผลกระทบในทางเลวร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กหรือเยาวชนจากการที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการสืบเสาะและพินิจ ฉะนั้น การสอบปากคำหรือดำเนินการอื่นใดกับพยาน/ผู้เสียหายที่เป็นเด็กหรือเยาวชน จะต้องดำเนินการโดยปกปิด มิให้มีการเผยแพร่ให้ผู้อื่นล่วงรู้หรือสามารถบ่งชี้ตัวเด็กหรือเยาวชน พนักงานคุมประพฤติควรจะต้องอำนวยความสะดวกให้ความเชื่อมั่นและความอุ่นใจแก่เด็กหรือเยาวชน มิให้เกิดความวิตกกลัวหรือได้รับความอับอาย เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือได้รับผลกระทบด้านอารมณ์/จิตใจในเชิงลบ รวมทั้งต้องปกป้องมิให้เด็กหรือเยาวชนเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย

                    ๙. การดูแลช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายตามหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์  พนักงานคุมประพฤติจะต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญกับตัวผู้เสียหายในฐานะที่ตกเป็นเหยื่อของการกระทำความผิด โดยมิควรมุ่งเฉพาะการแสวงหา และการนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวจำเลยและพฤติการณ์แห่งความผิดเพียงประการเดียว พนักงานคุมประพฤติผู้ดำเนินการสืบเสาะและพินิจจึงต้องปฏิบัติงานอยู่บนพื้นฐานของการรับฟังผู้เสียหาย และแสวงหา หรือ มีการดูแลช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายตามหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ โดยให้ความสนใจต่อความต้องการจำเป็นของผู้เสียหาย(ซึ่งตกอยู่ในสภาพเป็นเหยื่ออาชญากรรมหรือการกระทำความผิด) ทั้งด้านวัตถุ สิ่งของ การเงิน อารมณ์ความรู้สึกของผู้เสียหาย รวมทั้งสังคมด้วย

                    ดังนั้น การดำเนินการสืบเสาะและพินิจจึงต้องดำเนินกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เพื่อให้ฝ่ายจำเลยและฝ่ายผู้เสียหายได้มีโอกาสพบปะและเจรจาร่วมกันโดยมีเป้าหมายอยู่ที่การแสวงหาข้อตกลงร่วมกันในการเยียวยาและ/หรือชดใช้ค่าเสียหาย และประสานสัมพันธภาพระหว่างจำเลยและผู้เสียหายที่สูญเสียไปจากการกระทำผิดของจำเลยให้กลับฟื้นคืนเหมือนเดิม

ขั้นตอนและวิธีการสืบเสาะและพินิจ

                    ขั้นตอนในการสืบเสาะและพินิจจะเริ่มต้นเมื่อศาลได้มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจ เจ้าหน้าที่ธุรการของศาลจะแจ้งคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติทราบ โดยเจ้าหน้าที่ธุรการในสำนักงานคุมประพฤติเป็นผู้รับคำสั่งจากศาลแล้วนำไปลงทะเบียนรับคดีไว้เป็นหลักฐาน ต่อจากนั้นผู้อำนวยการสำนักงานหรือผู้ที่รับผิดชอบในการจ่ายคดีจึงมอบหมายให้พนักงานคุมประพฤติเป็นผู้ดำเนินการตามคำสั่งศาล

                    ในขั้นตอนและวิธีการสืบเสาะและพินิจ มีลักษณะการปฏิบัติงานที่สำคัญ ๓ ประการ คือ

๑. การสั่งสืบเสาะและพินิจของศาล

๒. การปฏิบัติงานของธุรการคดี

๓. การปฏิบัติงานของพนักงานคุมประพฤติ

ประเภทคดีที่ศาลจะสั่งสืบเสาะและพินิจ

                    พระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ.๒๕๕๙ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๖ วรรคแรก ลักษณะคดีโดยทั่วไปที่จะศาลจะสั่งสืบเสาะและพินิจ ดังนี้

                    ๑.๑ คดีที่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

                    ๑.๒ คดีที่ศาลเห็นว่าจะลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน ๕ ปี เพราะหากพนักงานคุมประพฤติได้ทำรายงานสืบเสาะและพินิจพร้อมทั้งทำความเห็นเสนอต่อศาลว่าจำเลยสมควรจะได้รับโอกาสปรับปรุงแก้ไขตนเองให้เป็นพลเมืองดี และศาลมีความเห็นตามที่พนักงานคุมประพฤติเสนอ ศาลก็จะสามารถพิพากษารอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษได้

                    ๑.๓ คดีที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว เนื่องจากการสืบเสาะและพินิจ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติภูมิหลังของจำเลย มูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิด ความหนักเบาของพฤติการณ์แห่งคดี แนวโน้มเกี่ยวกับพฤติกรรมของจำเลย เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุและปัจจัยที่จะทำให้จำเลยกระทำความผิด และเพื่อพิจารณาว่าสมควรจะนำวิธีการคุมความประพฤติมาใช้กับจำเลยหรือไม่ และถ้าสมควร จะใช้วิธีการอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับจำเลยแต่ละราย

                    แต่กระนั้น ไม่มีบทกฎหมายใดที่ห้ามมิให้ศาลสั่งสืบเสาะและพินิจคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลย่อมมีอำนาจสั่งได้ แต่โดยปกติศาลจะจำกัดประเด็นการสืบเสาะไว้ในเรื่องที่ศาลต้องการทราบเท่านั้น เช่น ประวัติครอบครัว นิสัยความประพฤติ บ้านและสภาพแวดล้อม หรือเหตุอื่นอันควรปรานี ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์ความถูกผิดของจำเลย

วิธีการสั่งสืบเสาะและพินิจ

                    เมื่อศาลเห็นสมควรให้มีการสั่งสืบเสาะและพินิจในคดีใดแล้ว ศาลก็จะมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจในรายงานกระบวนพิจารณา จากนั้นจะมีคำสั่งถึงพนักงานคุมประพฤติ ให้สืบเสาะและพินิจ โดยใช้แบบ ค.ป.๑

ระยะเวลาที่ศาลสั่งให้ดำเนินการ

                    ตามพระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ.๒๕๕๙  ได้บัญญัติไว้ความว่า “เมื่อศาลสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจข้อเท็จจริงตามมาตรา ๒๓ ให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจโดยไม่ชักช้า และให้ทำรายงานพร้อมกับความเห็นเสนอต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลสั่ง แต่ถ้าไม่อาจทำให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวศาลจะอนุญาตให้ขยายเวลาต่อไปอีกเท่าที่จำเป็นแต่ไม่เกินสามสิบวันก็ได้”

                    จะเห็นได้ว่าตามมาตราดังกล่าวกำหนดให้ส่งรายงานการสืบเสาะและพินิจต่อศาลภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ศาลสั่ง อย่างไรก็ตามบทบัญญัติดังกล่าวก็เปิดโอกาสให้ศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการทำรายงานพร้อมความเห็นเสนอต่อศาลได้อีกไม่เกิน ๓๐ วัน ดังนั้นเมื่อพนักงานคุมประพฤติไม่สามารถส่งรายงานการสืบเสาะและพินิจต่อศาล ภายใน ๑๕ วัน พนักงานคุมประพฤติต้องยื่นคำร้องขออนุญาตขยายเวลาต่อศาล