ภารกิจ>>งานคุมประพฤติ>>การคุมความประพฤติ>>การคุมความประพฤติเด็กและเยาวชน



การคุมประพฤติเด็กและเยาวชน

การคุมประพฤติเด็กและเยาวชนในประเทศไทย เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยได้มีการจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง) และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง (ปัจจุบันยกฐานะเป็นกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด รวมทั้งการคุมประพฤติเด็กและเยาวชนขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๕  หลังจากนั้นจึงมีการขยายการดำเนินงานในลักษณะเดียวกันไปสู่ภูมิภาคครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ

ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔  คณะรัฐมนตรีได้มีมติเกี่ยวกับแนวทางรูปแบบการลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคุมประพฤติ โดยกำหนดให้กรมคุมประพฤติเป็นหน่วยงานหลักในการคุมความประพฤติผู้กระทำผิดทั้งในชั้นก่อน ระหว่างและหลังการพิจารณาคดีของศาล ทั้งกับผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กและผู้ใหญ่   และภายหลังจึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ และพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕  ที่กำหนดให้โอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ ตลอดจนส่วนประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานการคุมประพฤติเด็กและเยาวชน ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ให้เป็นภารกิจและอำนาจหน้าที่ของกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม  โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๕ เป็นต้นมา จากกรณีดังกล่าวจึงมีผลให้ กรมคุมประพฤติต้องรับโอนภารกิจการคุมประพฤติเด็กและเยาวชนจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนมาดำเนินการ เฉพาะการดำเนินงานในขั้นตอนของการควบคุมและสอดส่อง ส่วนการดำเนินงานในขั้นตอนของการสืบเสาะและพินิจยังคงเป็นภารกิจในความรับผิดชอบของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเช่นเดิม ทั้งนี้โดยได้มีการส่ง-รับมอบงานคุมความประพฤติเด็กและเยาวชนมาตั้งแต่วันที่  ๑  กรกฎาคม  ๒๕๔๖ 

ปัจจุบันการคุมประพฤติเด็กและเยาวชน เฉพาะในส่วนของการคุมความประพฤติหรือการควบคุมและสอดส่อง จึงเป็นภารกิจในความรับผิดชอบดำเนินการของกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม โดยมีพนักงานคุมประพฤติในสังกัดสำนักงานคุมประพฤติจังหวัด/ประจำศาล ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น ๑๐๗ สำนักงาน เป็นผู้ทำหน้าที่ควบคุมและสอดส่องผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กและเยาวชนดังกล่าว

ความหมาย

การคุมความประพฤติเด็กและเยาวชน คือ กระบวนการติดตาม ควบคุมดูแล ให้คำแนะนำ และช่วยเหลือผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กและเยาวชนในชุมชน ซึ่งถูกกำหนดเงื่อนไขการคุมความประพฤติ โดยมีพนักงานคุมประพฤติเป็นผู้ควบคุมดูแล แนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือนในเรื่องความประพฤติ การศึกษา การประกอบอาชีพ หรือเรื่องอื่นๆ ด้วยวิธีการแก้ไขฟื้นฟูตามความเหมาะสม เพื่อให้ผู้กระทำผิดปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติ ไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ สามารถปรับตัวอยู่กับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข

วัตถุประสงค์

วัตถุประสงค์ของการคุมความประพฤติเด็กและเยาวชน มีดังนี้

     ๑.  เพื่อแก้ไขฟื้นฟูเด็กและเยาวชนตามสภาพปัญหาและความต้องการ

     ๒.  เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนให้สามารถดำเนินชีวิตและปรับตัวเข้ากับสังคมได้โดยไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ

     ๓.  เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพและความปลอดภัยของชุมชน

ประเภทของการคุมประพฤติเด็กและเยาวชน

การคุมประพฤติเด็กและเยาวชนจะเริ่มขึ้นหลังจากศาลเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติคุมความประพฤติเด็กและเยาวชน โดยแบ่งได้เป็น 2ประเภท คือ การคุมความประพฤติก่อนและหลังศาลมีคำพิพากษา

๑. การคุมความประพฤติก่อนศาลมีคำพิพากษา

การคุมความประพฤติก่อนศาลมีคำพิพากษา หมายถึง การที่ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนสั่งใช้การคุมประพฤติเด็กและเยาวชนตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๓๒ ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลเห็นว่าตามพฤติการณ์แห่งคดียังไม่สมควรจะมีคำพิพากษาหรือบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กและเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยร้องขอ เมื่อศาลสอบถามผู้เสียหายแล้ว ศาลอาจมีคำสั่งให้ปล่อยตัวเด็กและเยาวชนชั่วคราวแล้วมอบตัวเด็กและเยาวชนนั้นให้บุคคลดังกล่าวโดยไม่มีประกัน หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันด้วยก็ได้ โดยกำหนดเงื่อนไขหรือให้ใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัย อันได้แก่ การเปลี่ยนโทษปรับเป็นการคุมความประพฤติ ซึ่งศาลจะกำหนดเงื่อนไขการคุมความประพฤติข้อเดียวหรือหลายข้อไว้ด้วยก็ได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๒(๒) ประกอบกับรายละเอียดของเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติที่ศาลจะกำหนดได้ ๑-๘ ข้อ  ระยะเวลาการคุมความประพฤติที่ศาลจะกำหนดเงื่อนไขให้เด็กหรือเยาวชนปฏิบัติที่จะต้องไม่เกินกว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นจะมีอายุครบ ๒๔ ปีบริบูรณ์  และการแก้ไขเพิ่มเติม หรือเพิกถอน หรือเพิ่มเติมเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ เมื่อความปรากฏแก่ศาลเองหรือปรากฏจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานสังคมสงเคราะห์ว่า ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กหรือเยาวชนนั้นเปลี่ยนแปลงไป ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๘ ประกอบกับการกำหนดให้พนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานสังคมสงเคราะห์เป็นผู้ทำหน้าที่ดำเนินการคุมประพฤติเด็กหรือเยาวชน  และถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อการคุมความประพฤติที่ศาลกำหนด ศาลจะสั่งให้เด็กหรือเยาวชนไปรับการอบรมในสถานพินิจเป็นเวลาไม่เกินกว่า ๑ ปี  แต่ต้องไม่เกินกว่าเด็กหรือเยาวชนนั้น มีอายุ ๒๔ ปีบริบูรณ์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๙

ทั้งนี้โดยที่การสั่งใช้วิธีการคุมความประพฤติตามมาตรา ๑๓๒ นี้ จะมีลักษณะเป็นเพียงคำสั่งชั่วคราว เพื่อเป็นประโยชน์ให้ศาลได้รับทราบข้อมูลภูมิหลังของเด็กหรือเยาวชน หรือพฤติการณ์ของเด็กหรือเยาวชนในระหว่างที่ให้คุมความประพฤติไว้นี้ว่าเป็นผลดีหรือไม่เพียงใด เพื่อจะเป็นประโยชน์ในการใช้ดุลพินิจในการพิพากษาคดีให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการแก้ไขฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนรายนั้นๆ ได้เหมาะสมยิ่งขึ้นในภายหลัง

การคุมความประพฤติในขั้นตอนนี้จึงเป็นการสั่งใช้มาตรการคุมประพฤติก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา ซึ่งมีนัยที่เป็นไปเพื่อแก้ไขฟื้นฟูนิสัยความประพฤติของเด็กและเยาวชนโดยยังไม่ต้องมีคำพิพากษาเด็กและเยาวชนก่อนแต่อย่างใด การคุมความประพฤติเด็กและเยาวชนในกรณีนี้จึงเป็นไปเพื่อให้โอกาสเด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ที่จะปรับปรุงแก้ไขตนเองและป้องกันมิให้เด็กและเยาวชนหวนกลับไปมีพฤตินิสัยในทางที่เสียหายหรือกระทำผิดกฎหมายซ้ำขึ้นใหม่อีกต่อไป

การดำเนินการคุมความประพฤติเด็กและเยาวชนในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้คุมความประพฤติก่อนมีคำพิพากษา โดยทั่วไปให้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกับการคุมความประพฤติเด็กและเยาวชนหลังมีคำพิพากษา 

๒. การคุมความประพฤติหลังศาลมีคำพิพากษา

การคุมความประพฤติหลังศาลมีคำพิพากษา หมายถึง การที่ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนสั่งใช้การคุมความประพฤติเด็กและเยาวชนภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนไม่มีความผิดและกรณีที่เด็กหรือเยาวชนมีความผิด ดังนี้

๒.๑  กรณีที่เด็กหรือเยาวชนไม่มีความผิดเป็นกรณีที่ศาลปล่อยเด็กหรือเยาวชนไปเพราะไม่มีความผิด แต่เด็กหรือเยาวชนนั้นมีความประพฤติเสียหาย ไม่เหมาะสม ดังนั้นเพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของเด็กหรือเยาวชนนั้น ศาลก็อาจปล่อยตัวไปโดยวางเงื่อนไขคุมประพฤติไว้ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๓๘ ที่บัญญัติว่า  ในกรณีที่ศาลพิพากษาว่าเด็กหรือเยาวชนซึ่งเป็นจำเลยไม่มีความผิดและปล่อยเด็กหรือเยาวชนไป ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุอันสมควรจะกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับความประพฤติของเด็กหรือเยาวชนนั้นด้วย ให้ศาลมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติข้อเดียวหรือหลายข้อไว้ในคำพิพากษา พร้อมทั้งได้บัญญัติรายละเอียดของเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ   ระยะเวลาการคุมความประพฤติที่ศาลจะกำหนดเงื่อนไขให้เด็กหรือเยาวชนปฏิบัติ จะต้องไม่เกินกว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นจะมีอายุครบ ๒๔ ปีบริบูรณ์  และการแก้ไขเพิ่มเติม หรือเพิกถอน หรือเพิ่มเติมเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ เมื่อความปรากฏแก่ศาลเองหรือปรากฏจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานสังคมสงเคราะห์ว่า ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กหรือเยาวชนนั้นเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับการกำหนดให้พนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานสังคมสงเคราะห์เป็นผู้ทำหน้าที่ดำเนินการคุมความประพฤติเด็กหรือเยาวชน และถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อการคุมความประพฤติที่ศาลกำหนด ศาลมีอำนาจออกหมายเรียกหรือหมายจับเด็กหรือเยาวชนนั้นมาตักเตือน หรือสั่งให้เด็กหรือเยาวชนไปรับการอบรมในสถานพินิจเป็นเวลาไม่เกินกว่า ๑ ปี  แต่ต้องไม่เกินกว่าเด็กหรือเยาวชนนั้น มีอายุ ๒๔ ปีบริบูรณ์ ตามมาตรา ๑๓๙

๒.๒  กรณีเด็กหรือเยาวชนมีความผิด สามารถแยกได้เป็น ๓ กรณีดังนี้

ก.  กรณีที่เด็กหรือเยาวชนมีความผิด แต่ไม่ต้องได้รับโทษ เป็นกรณีที่เด็กหรือเยาวชนที่มีอายุกว่า ๑๐ ปี แต่ยังไม่เกิน ๑๕ ปี [๑] กระทำผิด ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๔ (๓) บัญญัติไว้ว่า เด็กหรือเยาวชนนั้นไม่ต้องได้รับโทษ แต่ศาลมีอำนาจมอบตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นให้บิดา มารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอาศัยอยู่ โดยศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กหรือเยาวชนนั้นเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ด้วยก็ได้ โดยให้พนักงานคุมประพฤติเป็นผู้ทำหน้าที่คุมความประพฤติเด็กหรือเยาวชนนั้น การคุมความประพฤติในกรณีนี้จึงเป็นการสั่งใช้มาตรการคุมความประพฤติเด็กหรือเยาวชนไว้เมื่อศาลเล็งเห็นว่า การกำหนดเงื่อนไขการคุมความประพฤติเด็กหรือเยาวชนจะเป็นผลดีแก่เด็กหรือเยาวชนยิ่งกว่าการลงโทษหรือใช้วิธีการฝึกอบรม ศาลอาจปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนไป

ข. กรณีที่เด็กหรือเยาวชนมีความผิด และศาลส่งตัวไปกักและอบรมโดยกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำและสูงไว้และในระยะเวลานั้นศาลสั่งให้คุมประพฤติ เป็นกรณีที่เด็กและเยาวชนมีความผิด และศาลมีคำพิพากษาให้ส่งตัวเด็กหรือเยาวชนไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในศูนย์ฝึกและอบรม สถานศึกษา สถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิต ถ้าศาลได้กำหนดระยะเวลาขั้นต่ำและขั้นสูงไว้ศาลอาจปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนไปในระหว่างเวลาขั้นต่ำและขั้นสูงนั้นก็ได้ โดยศาลจะกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติไว้ด้วยหรือไม่ก็ได้ ซึ่งระยะเวลาที่ศาลจะกำหนดเงื่อนไขให้เด็กหรือเยาวชนปฏิบัติจะต้องไม่เกินระยะเวลาขั้นสูงตามคำพิพากษาในคดีนั้น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๒ ทั้งนี้โดยมีรายละเอียดของเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ ระยะเวลาการคุมความประพฤติ และการแก้ไขเพิ่มเติม หรือเพิกถอน หรือเพิ่มเติมเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ เมื่อข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เกี่ยวกับการคุมประพฤติเปลี่ยนแปลงไป และการกำหนดผู้ทำหน้าที่ดำเนินการคุมประพฤติ และการดำเนินการกรณีที่เด็กหรือเยาวชนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อการคุมประพฤติที่ศาลกำหนด เช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๙ และมาตรา ๑๔๓ ดังกล่าว

ค. กรณีที่เด็กหรือเยาวชนมีความผิด และศาลส่งตัวไปกักและอบรมจนครบกำหนดแล้วจึงให้คุมความประพฤติ เป็นกรณีที่เด็กหรือเยาวชนมีความผิด และศาลพิพากษาให้ส่งตัวเด็กหรือเยาวชนไปกักและอบรมหรือฝึกและอบรมในสถานพินิจ สถานศึกษาหรือสถานฝึกและอบรม ต่อมาเมื่อเด็กหรือเยาวชนนั้นได้รับการปล่อยตัวจากโรงเรียนหรือสถานฝึกและอบรม และศาลเองหรือผู้ปกครองสถานพินิจหรือผู้ปกครองสถานศึกษาหรือสถานฝึกและอบรม ร้องขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติเด็กหรือเยาวชนนั้นไว้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๒ วรรค ๒ ทั้งนี้โดยมีรายละเอียดของเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ   ระยะเวลาการคุมความประพฤติ และการแก้ไขเพิ่มเติม หรือเพิกถอน หรือเพิ่มเติมเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ เมื่อข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เกี่ยวกับการคุมความประพฤติเปลี่ยนแปลงไป และการกำหนดผู้ทำหน้าที่ดำเนินการคุมความประพฤติ และการดำเนินการกรณีที่เด็กหรือเยาวชนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อการคุมความประพฤติที่ศาลกำหนด เช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๙ และมาตรา ๑๔๓ ดังกล่าวแล้ว

การแจ้งคำพิพากษาให้คุมความประพฤติ

การแจ้งคำพิพากษาให้คุมความประพฤติ เป็นการดำเนินงานของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด หรือศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว โดยการประสานงานระหว่างสำนักอำนวยการประจำศาลกับธุรการคดีของสำนักงานคุมประพฤติ แยกออกเป็น ๒ กรณี ดังนี้

๑.๑  กรณีศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำพิพากษาให้คุมความประพฤติเด็กหรือเยาวชน ไม่ว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นจะมีที่พักอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครหรือในต่างจังหวัด ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจะมีหนังสือแจ้งคำพิพากษา (แจ้งผลคำพิพากษากรณีคุมความประพฤติ) ไปยังสำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานครเพื่อให้ดำเนินการ ซึ่งแบ่งเป็น ๒ กรณีย่อย ได้แก่

(ก)  กรณีเด็กและเยาวชนมีที่พักอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้พิจารณาจ่ายคดีให้กับสำนักงานคุมประพฤติในเขตกรุงเทพมหานครทั้ง ๑๑ แห่ง ตามพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานคุมประพฤติที่เด็กหรือเยาวชนมีที่พักอาศัยอยู่ระหว่างการคุมความประพฤตินั้น (รายละเอียดในทำเนียบสำนักงานคุมประพฤติและเขตพื้นที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคุมประพฤติผู้ใหญ่การคุมประพฤติเด็กและเยาวชน และการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษ ประกอบกับแผนที่สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ)

(ข)  กรณีที่เด็กและเยาวชนมีที่พักอาศัยอยู่ในต่างจังหวัด ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจะนัดเด็กและเยาวชนให้ไปพบพนักงานคุมประพฤติที่สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานครเพื่อรับฟังการชี้แจงเงื่อนไขการคุมความประพฤติ และแนะนำสถานที่ตั้งสำนักงานคุมประพฤติที่เด็กและเยาวชนต้องไปรายงานตัว พร้อมทั้งนัดหมายเด็กและเยาวชนให้ไปพบกับพนักงานคุมประพฤติ ที่สำนักงานคุมประพฤติจังหวัด/ประจำศาล ตรงตามสำนักงานที่รับผิดชอบเขตพื้นที่เด็กและเยาวชนนั้นมีที่พักอาศัยอยู่ในระหว่างการคุมความประพฤติ

๑.๒  กรณีศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด หรือศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำพิพากษาให้คุมความประพฤติเด็กและเยาวชน ไม่ว่าเด็กและเยาวชนนั้นจะมีที่พักอาศัยอยู่ในจังหวัดที่ตั้งศาลนั้น หรือจังหวัดอื่น รวมทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด หรือศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวจะมีหนังสือแจ้งคำพิพากษา (แจ้งผลคำพิพากษากรณีคุมความประพฤติ) ไปยังสำนักงานคุมประพฤติจังหวัด/ประจำศาลจังหวัดที่รับผิดชอบเขตพื้นที่ที่เด็กและเยาวชนนั้นมีที่พักอาศัยอยู่ในระหว่างการคุมความประพฤติโดยตรง ทั้งนี้โดยสมควรจะได้แจ้งให้เด็กหรือเยาวชนนั้นไปพบพนักงานคุมประพฤติที่สำนักงานคุมประพฤติจังหวัด/ประจำศาล ในเขตอำนาจศาลที่มีคำพิพากษานั้นก่อน เพื่อรับฟังการชี้แจงเงื่อนไขเพื่อการคุมความประพฤติและแนะนำสถานที่ตั้งสำนักงานคุมประพฤติที่เด็กและเยาวชนต้องไปรายงานตัว พร้อมทั้งนัดหมายเด็กและเยาวชนให้ไปพบกับพนักงานคุมประพฤติที่สำนักงานคุมประพฤติจังหวัด/ประจำศาล ตรงตามสำนักงานที่รับผิดชอบเขตพื้นที่เด็กและเยาวชนนั้นมีที่พักอาศัยอยู่ในระหว่างการคุมความประพฤติหรือตามที่ศาลมีคำพิพากษาให้ไปรายงานตัวนั้น

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุมความประพฤติเด็กและเยาวชน ประกอบด้วยกฎหมายต่อไปนี้

๑. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓

๒. พระราชกฤษฎีกา โอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ

ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๑๐๗ ประกอบมาตรา ๑๖๑ และมาตรา ๑๖๒

๓. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖-๕๘ มาตรา ๗๓-๗๕

ผู้มีอำนาจสั่งคุมความประพฤติเด็กและเยาวชน

          ผู้ที่มีอำนาจในการสั่งคุมความประพฤติเด็กและเยาวชน มีดังต่อไปนี้

๑.     ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง

๒.     ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด

๓.     ศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว

กระบวนการคุมความประพฤติเด็กและเยาวชน

เมื่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด หรือศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว มีคำพิพากษาให้คุมประพฤติเด็กและเยาวชนไว้ ทั้งที่เป็นการคุมประพฤติก่อนมีคำพิพากษาหรือหลังมีคำพิพากษา  ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งกรณีที่เด็กและเยาวชนนั้นจะมีความผิดหรือไม่มีความผิดก็ตาม การดำเนินการคุมประพฤติจะเริ่มขึ้น โดยขั้นตอนการปฏิบัติงานตั้งแต่ศาลมีคำพิพากษาให้คุมความประพฤติ จนกระทั่งพนักงานคุมประพฤติเสนอรายงานการคุมความประพฤติต่อศาล เมื่อการคุมความประพฤติเสร็จสิ้นลงแล้ว ประกอบด้วย ๖ ขั้นตอนที่ต่อเนื่องกัน ดังนี้

ขั้นตอนที่ ๑  การรับคดี

ขั้นตอนที่ ๒  การชี้แจงเงื่อนไขการคุมความประพฤติและรวบรวมข้อมูล

ขั้นตอนที่ ๓  การวิเคราะห์และวางแผน

ขั้นตอนที่ ๔  การดำเนินการควบคุมและสอดส่องตามแผน

ขั้นตอนที่ ๕  การติดตามและประเมินผล

ขั้นตอนที่ ๖  การจัดทำรายงานการคุมความประพฤติ