ภารกิจ>>งานคุมประพฤติ>>การคุมความประพฤติ>>การคุมความประพฤติผู้ได้รับการพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษจำคุก



 ๒. การคุมความประพฤติผู้ได้รับการพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษจำคุก

การพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุก เป็นมาตรการที่กรมราชทัณฑ์นำมาใช้ในการปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดที่มีความประพฤติดีและอยู่ในระเบียบวินัย มีความอุตสาหะ ตั้งใจศึกษาอบรม ขยันฝึกวิชาชีพและทำความชอบแก่ราชการ ได้ออกไปสู่ครอบครัวและชุมชนก่อนครบกำหนดโทษ ภายใต้เงื่อนไขการคุมประพฤติ

๒.๑ ประเภทของการคุมความประพฤติผู้ได้รับการพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษจำคุก แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้

-  การพักการลงโทษ (Parole) หมายถึง การปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดออกมาอยู่นอกเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษภายใต้เงื่อนไขการคุมความประพฤติ และจะพึงกระทำได้เมื่อนักโทษเด็ดขาดนั้นได้รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของกำหนดโทษตามหมายศาลในขณะนั้น ให้กำหนดไม่น้อยกว่า ๑ ปี แต่ไม่เกินกำหนดโทษที่ยังเหลืออยู่

-  การลดวันต้องโทษ (Good-Time Allowance) หมายถึง การประโยชน์ลดวันต้องโทษจำคุกแก่นักโทษเด็ดขาดที่มีความประพฤติดีในระหว่างต้องโทษในเรือนจำ ซึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วไม่น้อยกว่าหกเดือน หรือไม่น้อยกว่าสิบปี ในกรณีที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตที่มีการเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกมีกำหนดระยะเวลา ซึ่งนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการลดวันต้องโทษจำคุก ต้องเป็นนักโทษชั้นดีขึ้นไปเท่านั้น

๒.๒ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ได้รับการพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษจำคุก ประกอบด้วยกฎหมาย ดังต่อไปนี้

   - พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.๒๕๖๐

 

๒.๓ ผู้มีอำนาจสั่งพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษจำคุก

กรณีพักการลงโทษ

คณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษ

จะพิจารณาการพักการลงโทษได้ต่อเมื่อคณะกรรมการต่อไปนี้เห็นชอบ และได้รับการอนุมัติจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์

๑. คณะกรรมการในส่วนกลาง ประกอบด้วย 

          - ปลัดกระทรวงยุติธรรม (เดิมเป็น ปลัดกระทรวงมหาดไทย) ประธานกรรมการ

          - ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ กรรมการ 

          - ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรรมการ 

          - ผู้แทนกรมการปกครอง กรรมการ 

          - ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด กรรมการ 

          - ผู้แทนกรมคุมประพฤติ กรรมการ (เพิ่ม)

๒. คณะกรรมการสำหรับเรือนจำกลาง ประกอบด้วย

          -ข้าราชการชั้นหัวหน้าแผนกที่อธิบดี ตั้งขึ้นไม่น้อยกว่า ๓ นาย

๓. คณะกรรมการสำหรับเรือนจำภูมิภาค ประกอบด้วย 

          - ผู้บัญชาการเรือนจำ ประธาน 

          - ข้าราชการประจำแผนกขึ้นไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งขึ้น ๒ นาย

๔. กรณีมีเหตุพิเศษ จะพักการลงโทษมากกว่าที่กำหนดก็ได้ ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาอนุมัติ โดยคณะกรรมการ ประกอบด้วย (ขณะนี้อยู่ในระหว่างปรับเปลี่ยนคณะกรรการใหม่ให้สอดคล้องกับสังกัด) 

          - ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานกรรมการ

          - ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ กรรมการ 

          - ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรรมการ

          - ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย กรรมการ

          - ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด กรรมการ

๕. กรณีกรมราชทัณฑ์มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในการอนุมัติการพักการลงโทษให้แก่นักโทษเด็ดขาด เฉพาะรายที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์พักการลงโทษตามกฎหมายและเหลือโทษจำคุกต่อไปไม่เกิน ๑ เดือน และจะปล่อยตัวคุมประพฤติอยู่ภายในพื้นที่ของจังหวัดนั้น

เกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษ

คณะกรรมการ มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้นักโทษได้รับการพักการลงโทษ ดังนี้

๑.  พฤติการณ์ในระหว่างคุมขังอยู่ในเรือนจำ คือ

·      ความอุตสาหะ

·      ความก้าวหน้าทางการศึกษา

·      การทำงานหรือทำความชอบแก่ราชการเป็นพิเศษ

·      ความประพฤติขณะต้องโทษ

๒. พฤติกรรมก่อนต้องโทษจำคุก

·      ประวัติครอบครัว

·      อาชีพ

·      ข้อเท็จจริงในการกระทำความผิด (สาเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้น)

               ๓. ผู้อุปการะและที่อยู่อาศัย โดยจะพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ฐานะ อาชีพ ตลอดจนสภาพแวดล้อม และที่อยู่อาศัย

ระยะเวลาที่นักโทษเด็ดขาดอาจได้รับการพักการลงโทษ

๑. ชั้นเยี่ยม ไม่เกิน ๑ ใน ๓ ของกำหนดโทษที่ระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเด็ดขาด ในกรณีที่มีการพระราชทานอภัยโทษ ให้ถือกำหนดโทษตามหมายแจ้งโทษเด็ดขาดฉบับหลังสุด

๒. ชั้นดีมาก ไม่เกิน ๑ ใน ๔ ของกำหนดโทษที่ระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเด็ดขาด ในกรณีที่มีการพระราชทานอภัยโทษ ให้ถือกำหนดโทษตามหมายแจ้งโทษเด็ดขาดฉบับหลังสุด

๓. ชั้นดี ไม่เกิน ๑ ใน ๕ ของกำหนดโทษที่ระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเด็ดขาด ในกรณีที่มีการพระราชทานอภัยโทษ ให้ถือกำหนดโทษตามหมายแจ้งโทษเด็ดขาดฉบับหลังสุด

กรณีการลดวันต้องโทษจำคุก

คณะกรรมการพิจารณาการลดวันต้องโทษจำคุก

               เมื่อกรมราชทัณฑ์เห็นสมควรลดวันต้องโทษจำคุกให้แก่นักโทษเด็ดขาดรายใด จะต้องเสนอคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาโดยมีมติเสียงส่วนมาก ซึ่งประกอบด้วย

·      ผู้แทนจากกรมราชทัณฑ์

·      ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

·      ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด

·      ผู้แทนจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

·      จิตแพทย์จากกรมการแพทย์

เกณฑ์การพิจารณาการลดวันต้องโทษจำคุก

๑. นักโทษเด็ดขาดอาจได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกให้เดือนละไม่เกิน ๕ วัน  แต่การลดวันต้องโทษจำคุกจะพึงกระทำได้เมื่อนักโทษเด็ดขาดได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดมาแล้วไม่น้อยกว่า ๖ เดือน หรือไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี ในกรณีที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตที่มีการเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกมีกำหนดเวลา

๒. นักโทษเด็ดขาดได้รับโทษจำคุกมาแล้ว ไม่น้อยกว่า ๖ เดือน นับตั้งแต่วันต้องจำคุกจนถึงวันที่วันที่เข้าหลักเกณฑ์ คือ จำคุกมาแล้ว ๑๘๐ วัน และเป็นชั้นดีขึ้นไป ทั้งนี้ให้รวมวันหักขังเข้าด้วย และเริ่มเดือนที่ ๗ จึงจะได้รับประโยชน์จากการลดวันต้องโทษจำคุก ตามชั้นที่ได้รับอยู่คือ ตั้งแต่ชั้นดีขึ้นไป แต่ถ้านักโทษเด็ดขาดยังอยู่ในชั้นกลาง-เลว-เลวมาก ก็ยังไม่ได้รับประโยชน์ ให้รอจนกว่าจะสะสมความดีเข้าหลักเกณฑ์

๓. นักโทษเด็ดขาดได้รับโทษจำคุกมาในกรณีต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตที่มีการเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกมีกำหนดระยะเวลา ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี จึงจะเริ่มได้รับผลประโยชน์จากการลดวันต้องโทษจำคุกตามชั้นที่มีอยู่ตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ โดยได้รับผลประโยชน์ตั้งแต่เดือนที่ ๑ ของปีที่ ๑๑ ที่ต้องโทษมา

นักโทษเด็ดขาดอาจได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกตามชั้นและตามจำนวนวัน ดังต่อไปนี้

๑. ชั้นเยี่ยม เดือนละ ๕ วัน

๒. ชั้นดีมาก เดือนละ ๔ วัน

๓. ชั้นดี เดือนละ ๓ วัน

๒.๔ เงื่อนไขการคุมความประพฤติของผู้ได้รับพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุก 

               ซึ่งเงื่อนไขที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมได้บัญญัติไว้ในกฎกระทรวงออก ตามความในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยต้องปฏิบัติตามจนครบกำหนดระยะเวลาพ้นโทษ ดังนี้

(๑) ต้องไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติที่สำนักงานคุมประพฤติภายใน ๓ วัน นับแต่ได้รับการปล่อยตัวและต่อไปให้ไปรายงานตัวพนักงานคุมประพฤติ ตามที่พนักงานคุมประพฤติกำหนดจนกว่าจะพ้นโทษ

(๒) ต้องพักอาศัยอยู่กับผู้อุปการะตามบ้านเลขที่ที่แจ้งไว้และห้ามออกนอกเขตท้องที่จังหวัด เว้นแต่เพื่อกิจธุระสำคัญและต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานคุมประพฤติก่อน

(๓) ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับ หากฝ่าฝืนและถูกลงโทษโดยเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับนั้น ต้องแจ้งให้พนักงานคุมประพฤติทราบทุกครั้ง

(๔) ให้ประกอบอาชีพสุจริต หากเปลี่ยนเป็นสถานที่ทำงานหรือย้ายงานใหม่ ต้องแจ้งพนักงานคุมประพฤติทราบทุกครั้ง

(๕) ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำตักเตือนของพนักงานคุมประพฤติและเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อการแก้ไขฟื้นฟู ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมคุมประพฤติกำหนด

(๖) ห้ามประพฤติในตนในทางเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนัน เสพยาเสพติดและกระทำความผิดขึ้นอีก

(๗) ห้ามเกี่ยวข้องกับสารระเหย วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตหรือประสาท หรือยาเสพติดให้โทษทุกประเภท รวมทั้งอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนหรือวัตถุระเบิดทุกชนิด

(๘) ห้ามเยี่ยมเยียนและติดต่อกับนักโทษที่ไม่ใช่ญาติ ซึ่งกำลังต้องโทษอยู่

(๙) ต้องแสดงหนังสือสำคัญการปล่อยตัวต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าพนักงานเรือนจำ เมื่อมีการเรียกให้แสดง และหากหนังสือสำคัญการปล่อยตัวสูญหายให้รับแจ้งต่อพนักงานคุมประพฤติ

๒.๕ ระยะเวลาของการคุมความประพฤติผู้ได้รับพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุก

               ระยะเวลาของการคุมประพฤติผู้ได้รับพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุกนั้น นับตั้งแต่วันที่ได้รับการปล่อยคุมประพฤติจนถึงวันพ้นโทษของผู้ได้รับการพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษจำคุกแต่ละราย ซึ่งได้ระบุไว้ในหนังสือสำคัญปล่อยตัวคุมประพฤติ

๒.๖ กระบวนการคุมความประพฤติผู้ได้รับการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษ

               กระบวนการคุมความประพฤติผู้ได้รับการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษประกอบด้วย  ๖ ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

ขั้นตอนที่ ๑ การรับคดี เป็นขั้นตอนเมื่อสำนักงานคุมประพฤติได้รับหนังสือแจ้งการปล่อยคุมความประพฤติจากเรือนจำ / ทัณฑสถาน เจ้าหน้าที่ธุรการคดีจะลงทะเบียนรับคดีเข้าสู่ระบบกลาง รวบรวมเอกสารจัดตั้งสำนวนคดีโดยใช้สำนวนสืบเสาะฯของคดีนั้นเป็นสำนวนคดีสอดส่องต่อเนื่องกัน แล้วมอบให้หัวหน้ากลุ่มงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจะพิจารณาจ่ายคดีให้พนักงานคุมประพฤติ

ขั้นตอนที่ ๒ การชี้แจงเงื่อนไขการคุมความประพฤติและรวบรวมข้อมูล  เป็นขั้นตอนการดำเนินงานของพนักงานคุมประพฤติ เมื่อผู้ถูกคุมความประพฤติมาพบพนักงานคุมประพฤติตามหนังสือแจ้งการปล่อยคุมความประพฤติจากเรือนจำ/ทัณฑสถาน พนักงานคุมประพฤติจะดำเนินการปฐมนิเทศชี้แจงให้ผู้ถูกคุมความประพฤติเข้าใจในคำสั่งและเงื่อนไขการคุมความประพฤติ ตลอดจนรวบรวมหลักฐานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ถูกคุมความประพฤติและจัดทำกำหนดนัดรายงานตัว

ขั้นตอนที่ ๓ วิเคราะห์และวางแผน เป็นขั้นตอนที่พนักงานคุมประพฤติเจ้าของสำนวนจะนำข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับประวัติภูมิหลังของผู้ถูกคุมความประพฤติ ตลอดจนสภาพความผิดและพฤติการณ์แห่งคดีมาวิเคราะห์และประเมินและวางแผนแก้ไขฟื้นฟูผู้ถูกคุมความประพฤติ โดยการใช้เกณฑ์ความเสี่ยงหรือแนวโน้มการกระทำผิดซ้ำและเกณฑ์สภาพปัญหาและความต้องการในการจำแนกผู้กระทำผิด

ขั้นตอนที่ ๔ ควบคุมและสอดส่องตามเงื่อนไข / แก้ไขฟื้นฟูตามสภาพปัญหา เป็นขั้นตอนการดำเนินงานของพนักงานคุมประพฤติ เพื่อควบคุมดูแลและสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้กระทำผิดตามระดับความเสี่ยงหรือแนวโน้มต่อการกระทำผิดซ้ำและระดับความรุนแรงของสภาพปัญหาและความต้องการของผู้กระทำผิด เพื่อให้ผู้ถูกคุมความประพฤติปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติและได้รับการแก้ไขฟื้นฟูให้ปรับเปลี่ยนพฤตินิสัยกลับตนเป็นพลเมืองดี และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำขึ้นอีก

ขั้นตอนที่ ๕ ประเมินสรุปผลเป็นขั้นตอนที่พนักงานคุมประพฤติจะต้องตรวจสอบผลการดำเนินงานในแต่ละสำนวน โดยพนักงานคุมประพฤติจะต้องทบทวนแผนการดำเนินงาน และการประเมินความเสี่ยงและสภาพปัญหาและความต้องการซ้ำตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้มั่นใจว่าการจัดกิจกรรมแก้ไขฟื้นฟูหรือแผนการคุมความประพฤติที่กำหนดไว้มีการดำเนินการตามแผน เพื่อปรับแผนการคุมประพฤติให้มีประสิทธิภาพในการแก้ไขฟื้นฟูผู้ถูกคุมความประพฤติ

ขั้นตอนที่ ๖ จัดทำรายงานการคุมความประพฤติ เป็นขั้นตอนของพนักงานคุมประพฤติในการตรวจสอบสำนวนและประมวลข้อมูลในการคุมความประพฤติผู้ถูกคุมความประพฤติที่ดำเนินการเสร็จสิ้นทั้งในกรณีที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติและไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติ มาจัดทำเป็นรายงานการคุมความประพฤติเพื่อเสนอตต่อกรมราชทัณฑ์

๒.๗ แผนภูมิกระบวนการคุมความประพฤติผู้ได้รับการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษ

           แผนภูมิกระบวนการคุมความประพฤติผู้ได้รับการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษ