จำนวนผู้เข้าชม : 322

   


ดีเดย์! กฎหมาย JSOC มีผลบังคับใช้ เฝ้าระวังป้องกันสังคมสูงสุด 10 ปี [2023-01-23]

ดีเดย์! กฎหมาย JSOC มีผลบังคับใช้ เฝ้าระวังป้องกันสังคมสูงสุด 10 ปี
.
วันนี้ (23 มกราคม 2566) ณ อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงข่าว “การบังคับใช้พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565” โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ และกรมคุมประพฤติ เข้าร่วม
.
รมว.ยธ. เปิดเผยว่า “พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือ ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565” ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2565 และมีผลบังคับใช้ในวันนี้ 23 มกราคม 2566 โดยมีมาตรการพิเศษของกฎหมายและการปฏิบัติ 4 มาตรการสำคัญ ได้แก่ (1) มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด รวมถึงมาตรการทางการแพทย์ (2) มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ (3) มาตรการคุมขังภายหลังพันโทษ และ (4) การคุมขังฉุกเฉิน โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือผู้ที่ทําความผิดในคดีฆาตกรรม การข่มขืนกระทําชําเรา การกระทําความผิดทางเพศกับเด็ก การทําร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การทําร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส รวมทั้งการนําตัวบุคคลไปเรียกค่าไถ่ (ผู้กระทําความผิด 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) เพศ (2) ชีวิตและร่างกาย และ (3) เรียกค่าไถ่) ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา จํานวน 12 มาตรา ปัจจุบันมีผู้ต้องขังในเรือนจําที่ทําความผิดคดีดังกล่าว จำนวน 17,807 ราย (สถิติของกรมราชทัณฑ์ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2565) ทั้งนี้ ระยะเวลาในการใช้มาตรการได้ตั้งแต่ 7 วันถึง 10 ปี และทุกมาตรการรวมกันจะต้องไม่เกิน 10 ปี เพื่อป้องกันสังคมและผู้เสียหายจากการกระทำความผิดที่อาจเกิดขึ้นซ้ำอีกและเพื่อส่งเสริมการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด รวมถึงการเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญ โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องคำสั่งตามกฎหมาย เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการป้องกันสังคม และการคุ้มครองสิทธิอย่างเหมาะสม
.
รมว.ยธ. เผยอีกว่า ในวันนี้ตนได้ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำทันทีหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งองค์ประชุมประกอบด้วยหน่วยงานสำคัญ อาทิ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงกระทรวงยุติธรรม และมีกรมคุมประพฤติเป็นฝ่ายเลขานุการ คณะชุดนี้จะทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายในการป้องกันการกระทําความผิดซ้ำ รวมถึงให้ข้อเสนอแนะมาตรการแก้ไขฟื้นฟูและมาตรการสำคัญอื่นๆ ที่จะนำไปสู่การจัดทำแนวทางเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งการประชุมในวันนี้ได้พิจารณานโยบายที่สำคัญ เช่น การนําอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวมาใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามเฝ้าระวังผู้กระทำความผิด และการนําอาสาสมัครคุมประพฤติ ภาคีเครือข่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังผู้กระทำผิดในชุมชน ตลอดจนได้ให้คำแนะนำ คณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในการออกกฎระเบียบหรือการดำเนินป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ โดยคณะกรรมการพิจารณาฯ ชุดดังกล่าวจะมีรองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ทำหน้าที่ในการพิจารณากำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ รวมถึงพิจารณากำหนดมาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ หรือดำเนินการตามที่คณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำหรือรัฐมนตรีมอบหมาย ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาคณะกรรมการชุดนี้ได้มีการประชุมกำหนดการดำเนินการ วางกรอบทิศทางการทำงานตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการข้างต้นซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุตามเจตจำนงค์ของกฎหมายต่อไป
.
“การมีกฎหมายฉบับนี้ทําให้มีกลไกในการติดตามและเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดที่กระทําความผิดเกี่ยวกับเพศหรือกระทําความผิดที่ใช้ความรุนแรงที่พ้นโทษแล้ว โดยใช้มาตรการที่หลากหลาย ทั้งมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทําความผิด มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และการคุมขังฉุกเฉิน รวมทั้งกําหนดหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการเฝ้าติดตามกลุ่มบุคคลเหล่านี้ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจะสร้างความปลอดภัยแก่สังคมและประชาชนมากยิ่งขึ้น ผมยังเชื่อมั่นกับคำพูดที่ว่า “ถ้าสังคมรับรู้มีบุคคลอันตรายอยู่ในสังคมนั้น ก็จะไม่มีใครเสียชีวิต” รมว.ยธ.กล่าว